จากใน Section ที่แล้ว เราได้รู้พื้นฐานต่างๆของ UX UI Design ไปแล้ว ใน Section นี้ เราจะมาเริ่มทำความเข้าใจ และเจาะลึกลงไปกับ UX Design ให้มากขึ้น
หัวข้อการเรียนรู้ UX Design
การออกแบบประสบการณ์ เป็นจุดเริ่มต้นความสำเร็จในการออกแบบ การรับรู้เป้าหมายและการเรียนรู้จากผู้ใช้งาน ทำให้เรากำหนดทิศทางของการออกแบบได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานเกิดการประทับใจ เกิดความสนใจ และเกิดการพอใจในการใช้งานได้
โดยจะเรียนรู้ทั้งหมดดังนี้
- กระบวนการ Design Thinking
- Empathize การเข้าอกเข้าใจผู้ใช้งาน
- Define การกำหนด การเลือกปัญหา ที่เราควรให้ความใส่ใจ
- Ideate การสร้างสรรค์ไอเดียและการคิดไอเดียเพื่อแก้ปัญหา
- วิธีการสร้างต้นแบบ และทดสอบต้นแบบ เพื่อนำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แท้จริง
UX Design มีอยู่ในทุกสิ่ง
การที่เราจะเกิด Experience หรือประสบการณ์ได้นั้น จะเกิดจากการรับรู้ และความรู้สึก ในการรับรู้อาจจะมาจากการสัมผัส การมองเห็น การได้ยิน หรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายใน และต้องควบคู่ไปกับความรู้สึกด้วย เช่น รู้สึกชอบหรือไม่ชอบ รู้มีความสุขหรือไม่มี รู้สึกดีหรือไม่ดี
โดยแบ่งเป็นกรณีศึกษาได้ 2 แบบ คือ
- การออกแบบบริการ
- การออกแบบผลิตภัณฑ์
สรุปคือ Experience หรือประสบการณ์ มีความหลากหลาย มีความแตกต่างกัน การออกแบบประสบการณ์จึงต้องใส่ใจการรับรู้และความรู้สึกเป็นสิ่งสำคัญ
แนวคิดและกระบวนการ Design Thinking
เป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในการออกแบบ UX โดย Design Thinking ถูกสร้างขึ้นโดยบริษัท IDEO เป็นกระบวนการการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ได้รับความนิยมถึงขั้นบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Google, Facebook, Apple ก็ได้นำกระบวนการนี้ไปใช้งานอย่างจริงจัง จนทำให้แนวคิดนี้แพร่หลายไปทั่วโลก
Design Thinking เป็นกระบวนการที่เน้นความเข้าอกเข้าใจผู้ใช้งานเป็นสำคัญ
ซึ่งประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอนสำคัญ คือ
- Empathize : ความเข้าใจผู้ใช้งาน
- Define : การเลือกปัญหาที่เราสนใจ หรือปัญหาที่เราอยากเข้าไปแก้ไข
- Ideate : การคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา
- Prototype : การสร้างต้นแบบ โดยไม่เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการจริงๆ แต่จะเป็นการสร้างต้นแบบเพื่อใช้ทดลองก่อน
- การทดสอบ : คือการนำต้นแบบที่เราได้ไปทดสอบ
และเมื่อจบขั้นตอนที่ 5 แล้ว ก็จะวนลูปกลับสู่ Empathize อีกครั้ง
ดังนั้นการทำ Design Thinking จะเป็นกระบวนการที่ทำซ้ำไปเรื่อยๆ และเมื่อจบการทำ Design Thinking เราจะยิ่งเข้าใจผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น เข้าใจถึงปัญหา และได้ไอเดียการแก้ปัญหานั้นๆมากขึ้น
Empathize การเข้าอกเข้าใจผู้ใช้งาน
เริ่มจากการตั้งสมมติฐาน ปัญหา ข้อสงสัย หรือพฤติกรรมที่คุณสนใจ ซึ่งจะเป็นการ
นำไปสู่กลุ่มเป้าหมาย
ซึ่งการทำความเข้าใจผู้ใช้งาน จะมี 4 ประเด็นหลักๆ
- สิ่งที่ผู้ใช้คิด
- สิ่งที่ผู้ใช้พูด
- สิ่งที่ผู้ใช้รู้สึก
- สิ่งที่ผู้ใช้ลงมือกระทำ
โดยจะต้องเก็บข้อมูลโดยตรง ไม่ใช่แค่ทำแบบสอบถาม หรือเสิร์ชหาตาม Google ต้องเก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้ใช้งานโดยตรง เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ หรือการให้ผู้ใช้งานได้ลงมือใช้จริง
การสัมภาษณ์และวิธีการตั้งคำถาม
เป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุด ไม่ต้องลงทุนสูง แต่มีข้อจำกัด ในการจะได้ข้อมูลที่เป็นเท็จมีสูงมาก ดังนั้นจึงต้องมีเครื่องมืออื่นๆเข้ามาช่วยด้วย และต้องมุ่งเน้นเพื่อให้ได้คำตอบในเรื่องสิ่งที่ผู้ใช้พูด, สิ่งที่ผู้ใช้คิด, สิ่งที่ผู้ใช้รู้สึก และ สิ่งที่ผู้ใช้ลงมือกระทำ
5 รูปแบบคำถามหลักๆที่จำเป็นจะต้องมี
Variable : เป็นคำถามที่ถามเรื่องพื้นฐานทั่วไป เช่น อายุ การศึกษา เพศ ความสนใจ เป็นคำถามพื้นฐานเพื่อยืนยันว่า ผู้ที่ให้สัมภาษณ์เป็นกลุ่มเป้าหมายของเราจริงๆ
Mental Model : ถามความคิด ว่าผู้ที่ให้สัมภาษณ์มีความคิดเห็นอย่างไร มีมุมมองอย่างไร เช่น คุณมีความคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
Activity : ถามถึงสิ่งที่ผู้ที่ให้สัมภาษณ์ลงมือกระทำ ว่าผู้ที่ให้สัมภาษณ์กระทำอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ผู้ที่ให้สัมภาษณ์กระทำอยู่เป็นประจำ เช่น ปกติเรียนหนังสืออย่างไร
Motivation : ถามเกี่ยวกับความรู้สึก ถามเกี่ยวกับเป้าหมายของผู้ที่ให้สัมภาษณ์ เช่น ความสุขในชีวิตคุณคืออะไร
Opportunity : ถามเกี่ยวกับโอกาส โดยจะมุ่งเน้นไปที่สิ่งที่ทำให้ผู้ที่ให้สัมภาษณ์เป็นปัญหา หรือสิ่งที่ผู้ที่ให้สัมภาษณ์จะลงมือทำเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้น เช่น อะไรเป็นปัญหามากที่สุดในการเข้าห้องเรียนของคุณ และคุณมีวิธีหลีกเลี่ยงอย่างไร
โดยขั้นตอนการสัมภาษณ์จะเริ่มต้นด้วยคำถามพื้นฐาน(Variabl)ก่อนเสมอ จากนั้นคำถามอีก 4 รูปแบบจะเรียงอย่างไรก็ได้ แต่ต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ที่ให้สัมภาษณ์ และสิ่งสำคัญคือต้องถามให้ครบทั้ง 5 รูปแบบ เพื่อที่จะได้รู้ในทุกๆด้านของผู้ที่ให้สัมภาษณ์
เทคนิคการสัมภาษณ์และการบันทึก
โดยพื้นฐานจะประกอบด้วยทีมงาน 3 คน ทำหน้าที่แตกต่างกัน
- Interview : ทำการสัมภาษณ์ ทำหน้าที่ตั้งคำถามและสื่อสารกับผู้ให้สัมภาษณ์
- Note : ทำหน้าที่จดบันทึก ไม่ต้องคิดหรือวิเคราะห์ แค่จดทุกอย่างที่เป็นข้อเท็จจริง ที่ผู้ถูกสัมภาษณ์พูดออกมา
- Observe : ทำหน้าที่สังเกต มองพฤติกรรมของผู้ถูกสัมภาษณ์ สังเกตการกระทำ และแยกให้ออกว่าข้อมูลไหนที่พูดออกมาแล้วเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเท็จ
>หากมีผู้ให้สัมภาษณ์แค่ 2 คน คนที่ทำหน้าที่ Note ต้องคอยสังเกตพฤติกรรมด้วย และหากมีผู้สัมภาษณ์คนเดียว ให้มุ่งเน้นไปที่การสัมภาษณ์และการจดบันทึกเป็นหลัก
แรกเริ่มเราจะต้องแนะนำตัวเองและบอกถึงเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์ก่อน เพื่อให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ไม่เครียด และสบายใจ โดยขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 นาที
ให้ผู้ถูกสัมภาษณ์แนะนำตนเอง และเริ่มถามคำถาม โดยจะเป็นคำถามพื้นฐาน(Variable) ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 3 นาที
เริ่มถามคำถามที่อยากถาม ประเด็นที่สนใจ เพื่อเก็บข้อมูล ขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 15 นาที
ขั้นตอนสุดท้าย หากมีบางสิ่งที่อยากให้ผู้ถูกสัมภาษณ์ลงมือปฏิบัติให้ดู หรือมีแบบสอบถาม จะใช้เวลาประมาณ 5 นาที
ทั้ง 4 ขั้นตอนนี้ไม่ควรเกินระยะเวลา 1 ชั่วโมง
สรุปคือวิธีการสัมภาษณ์ เราจะต้องมุ่งความสนใจไปในเรื่องของสิ่งที่ผู้ใช้พูด, สิ่งที่ผู้ใช้คิด, สิ่งที่ผู้ใช้รู้สึก และ สิ่งที่ผู้ใช้ลงมือกระทำ โดยเตรียมคำถามให้พร้อมและครบทั้ง 5 รูปแบบ
การสังเกต
เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพมาก จากการเก็บข้อมูลของผู้ใช้ วิธีการสังเกตมี 3 แบบ
มองถึงรูปลักษณ์ภายนอก : สีหน้า ท่าทาง บุคลิกภาพ เป็นต้น
มองพฤติกรรม : สิ่งที่ทำเป็นประจำ สิ่งที่ทำอย่างเคยชิน สิ่งที่ทำอย่างปกติ
มองการกระทำ : โฟกัส หรือให้ความสำคัญกับพฤติกรรมบางอย่างที่เราสนใจ หรือเป็นพฤติกรรมที่เราอยากแก้ไขปัญหา
นอกจากนี้การสังเกตจะมีอีก 2 วิธี คือ
สังเกตห่างๆ หรือสังเกตจากระยะไกล : เป็นการมองพฤติกรรม หรือการกระทำจากระยะไกลๆ ดูสิ่งที่เขากระทำ หรือสิ่งที่เขาตัดสินใจ วิธีการคือเลือกบุคคลแค่บุคคลเดียว แล้วมองตลอด อย่ามองแค่รวมๆ ให้โฟกัสที่คน 1 คน ต่อการสังเกต หรือโฟกัสที่จุดที่เราสนใจไปเลย ตัวอย่างเช่น เราต้องการทำ Application เกี่ยวกับระบบจ่ายเงินในร้านสะดวกซื้อ ก็ให้โฟกัสแค่พฤติกรรมการจ่ายเงินของลูกค้าที่หน้าเคาท์เตอร์ไปเลย
สังเกตแบบประชิดตัว : จำเป็นต้องอนุญาตจากผู้ที่เราจะสังเกตก่อน ระหว่างติดตามสามารถพูดคุยได้ เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ได้ข้อมูลมากขึ้น
สรุปคือการสังเกต เป็นวิธีที่ได้ผลและได้ประสิทธิภาพที่ค่อนข้างดี แต่ทำยาก และใช้สมาธิกับการใส่ใจสูงมาก ต้องสนใจทั้งภาพรวม และรายละเอียดเล็กๆน้อยๆไปพร้อมๆกัน
การใช้งาน Empathy Map
คือวิธีการรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ
- การพูด : จะบันทึกข้อมูลทุกอย่างที่ผู้พูดได้พูดไว้ และดูว่าคำพูดไหน หรือประโยคไหนที่น่าสนใจ หรือเป็นประโยคที่พูดซ้ำๆ บ่อยๆ
- การคิด : วิเคราะห์ว่าผู้ใช้มีกระบวนการคิดอย่างไร มีความคิดเห็นอย่างไร ซึ่งสามารถดูได้จากการกระทำด้วย เราจะรู้ได้ว่าเขามีการตัดสินใจอย่างไร
- ความรู้สึก : วิเคราะห์ว่าผู้ใช้รู้สึกอย่างไร พอใจหรือไม่พอใจอย่างไรบ้าง สังเกตได้จากสีหน้า น้ำเสียง และการกระทำที่แสดงออกถึงความรู้สึกของผู้ใช้
- การลงมือทำ : บันทึกสิ่งที่ผู้ใช้จำเป็นต้องกระทำ หรือตั้งใจที่จะกระทำ โดยบันทึกและดูว่า พฤติกรรมไหนที่น่าสนใจ
เมื่อรวบรวมและวิเคราะห์ตามนี้ได้เสร็จ จะทำให้เห็นภาพของผู้ใช้งานได้ชัดขึ้น และเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยิ่งมีคนให้วิเคราะห์มาก ก็ยิ่งทำให้เห็นมุมมองกว้างมากขึ้น
Define
คือการกำหนดเป้าหมาย หรือปัญหาที่เราสนใจ โดยข้อมูลจากตอนแรกที่ได้มาจากการสัมภาษณ์ หรือสังเกต โดยวิธีการที่เราจะเลือกปัยหามาอยู่ 3 แบบ คือ
- ปัญหาที่หนัก : ส่งผลกระทบต่อคน, สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นปัญหาที่เกิดผลจริง สร้างความเสียหายจริง เช่น ปัญหาที่จอดรถในห้าง ห้างจะยังไม่แก้ไขอะไร เพราะผู้คนที่มาใช้บริการยังไม่ลดลง การแก้ปัญหาในส่วนนี้จึงยังไม่จำเป็น แต่ถ้าเกิดมันทำให้ผู้ใช้บริการลดลง แสดงว่าปัญหานี้ส่งผล และควรได้รับการแก้ไขทันที
- ปัญหาที่ใหญ่ : ส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมาก
- ปัญหาที่ส่งผลในระยะยาว : ส่งผลต่อเนื่อง และเป็นระยะเวลายาวนาน
>สรุปคือการ Define คือการที่เราเฟ้นหาประเด็นสำคัญที่ควรค่าแก่การแก้ไข เมื่อเราเลือกปัญหาได้แล้ว เราต้องเลือกผู้ใช้ว่า เป็นใคร และจะใช้ได้อย่างไร (Persona)
การสร้าง Persona
คือการสร้างหรือกำหนดตัวผู้ใช้ขึ้นมา โดยจะเป็นการสร้างตัวละครสมมติขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมาย
Name : ระบุชื่อ หรือตั้งชื่อขึ้นมา โดยเป็นชื่อสมมติ
Photo : ใส่รูปของผู้ใช้ หารูปโดยให้บุคลิก ลักษณะท่าทาง อยู่ในกลุ่มเป้าหมาย
Sentence : บอกประโยคสั้นๆที่เป็นปัญหาของผู้ใช้
Biography : ระบุข้อมูลพื้นฐาน เช่น อายุ เพศ ส่วนสูง การศึกษา เป็นต้น
Behavior : ระบุพฤติกรรมของผู้ใช้ เช่น เป็นคนนอนตื่นสาย ชอบทานอาหารไทย ชอบเที่ยวต่างประเทศเดือนละครั้ง เป็นต้น
Pain : ระบุความทุกข์ หรือปัญหาที่ผู้ใช้เจอ ที่เราต้องการไปแก้ไข
Goal&Motivation : ระบุเป้าหมายว่าคืออะไร ผู้ใช้อยากได้อะไร หรืออยากให้อะไรเกิดขึ้น และเมื่อแก้ไขปัญหาแล้วอยากให้ผลลัพธ์แบบไหนเกิดขึ้น ความคาดหวังคืออะไร
ดังนั้นเมื่อเราสร้าง Persona เสร็จสิ้นแล้ว เราจะได้ตัวแทนของกลุ่มผู้ใช้จากที่ได้ทำมา เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น และแจกจ่ายให้กับคนในทีม เพื่อให้เห็นภาพร่วมกัน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
Ideate
ในส่วนนี้่จะเน้นไปที่เรื่องของปริมาณ ไม่ใช่คุณภาพ สิ่งที่สำคัญในการคิด Idea คือ จะต้องสนุก มีความบ้า, มีความกล้า และมีความแปลกใหม่
เทคนิคการสร้างสรรค์ไอเดีย
ก่อนเราจะเริ่มสร้างไอเดีย ควรจำไว้ว่า ต้องไม่กลัวความล้มเหลว และต้องไม่กลัวข้อจำกัด
เทคนิคที่ 1 คือ "การตั้งคำถาม" : ต้องตั้งคำถามให้ดี ให้แหวก แล้วเราจะได้คำตอบที่สร้างสรรค์
เทคนิคที่ 2 คือ "การเชื่อมประสาน" : คือการนำ 2 สิ่งที่ต่างกันมากๆ มาเชื่อมต่อกัน จะทำให้ได้สิ่งใหม่ที่สร้างสรรค์มากกว่าเดิมออกมา
เทคนิคที่ 3 คือ "ลองทำสิ่งแปลกใหม่" : เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ จะช่วยสร้างไอเดียแปลกใหม่
สรุปคือ การคิดสร้างสรรค์ คือการอกจากกรอบเดิมๆ ข้อจำกัดเดิมๆ และลองฝึกฝนด้วยการตั้งคำถาม, เชื่อมประสาน และทำสิ่งที่แปลกใหม่
Step Sketch
มีทั้งหมด 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 : รวบรวมข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดที่มี ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
ขั้นตอนที่ 2 : คิดไอเดียออกมาเป็นข้อๆ โดยไม่จำกัด เน้นปริมาณมากๆ และเลือกมา 1 ไอเดีย ที่ชอบที่สุด ใช้เวลาประมาณ 20 นาที
ขั้นตอนที่ 3 : นำ 1 ไอเดียที่ได้มา Sketch เพิ่มเป็น 8 ไอเดีย และเลือกมา 1 ไอเดียที่ชอบที่สุด ใช้เวลาประมาณ 8 นาที
ขั้นตอนที่ 4 : นำไอเดียที่ได้มา Sketch ตั้งชื่อว่าอะไร มีขั้นตอนการทำงานอย่างไร (เริ่มอย่างไร/ทำงานอย่างไร/จบอย่างไร)
Prototype
วิธีการสร้างต้นแบบ เป็นต้นแบบในที่นี้ทำขึ้นเพื่อทดลอง และจะไม่นำไปใช้จริง โดยแนวคิดคือ หยาบ, เร็ว และถูก มีเป้าหมายเพื่อใช้ทดสอบการใช้งาน ให้รู้ว่าผู้ใช้รู้สึกอย่างไร, ใช้และจะเกิดอะไรขึ้น และตรงตามที่ออกแบบไว้หรือไม่
เทคนิคการสร้าง Phototype
1. Paper Prototype : เหมาะกับการทดสอบ Application หรือ Website เป็นต้นแบบที่ง่ายที่สุด โดยจะวาดลงไปบนกระดาษ
2. Desktop Prototype : เหมาะกับการออกแบบบริการ หรือพื้นที่ด้านใดด้านหนึ่ง สร้างโดยใช้ของเล่น, กระดาษ หรือดินน้ำมัน (คล้ายๆกับการสร้าง Model ของสถาปัตย์)
3. Role-Play : ใช้ตัวบุคคลมาสมมติเป็นตัวละคร ใช้เพื่อทดสอบการให้บริการ
4. Cardboard Prototype : เหมาะกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยใช้อุปกรณ์คือ กระดาษแข็งที่นำมาขึ้นรูปเป็นอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อลองให้ผู้ใช้ ทดลองจับต้องกับผลิตภัณฑ์
การวาด Wireframe สำหรับ Paper Prototype
ซึ่ง Wireframe คือเทคนิคการร่างเส้นให้ออกมาเป็น Application หรือ Website โดยคงคอนเซ็ป "หยาบ/เร็ว/ง่าย"
เริ่มต้นการวาด Wireframe จากโจทย์หรือฟังก์ชั่นที่ต้องการทำ และต้องการทดสอบ โดยใช้ฟังก์ชั่นนั้นเป็นตัวตั้ง เริ่มต้นจากหน้าแรกก่อน ว่าโครงสร้างเป็นอย่างไร และตามด้วยปุ่มต่างๆกดแล้วไปไหน ย้ำว่าวาดคร่าวๆ
Test (การทดสอบ)
หรือคือการทดลองว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราคาดหวัง หรือไอเดียที่เราสร้างขึ้นมานั้น ตรงและให้ผลลัพธ์ตามที่เราคิดไว้หรือไม่
"เป้าหมายของการทดสอบ : การได้ Feedback"
เมื่อได้รับ Feedback จะทำให้เราเห็นผลลัพธ์ เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น
ดังนั้นการทดสอบจึงสำคัญที่สุด เพราะมันจะนำเราไปสู่ข้อเท็จจริง และจะทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้น เข้าใจมากขึ้น
รูปแบบในการ Test
มี 2 รูปแบบ โดยขึ้นอยู่กับเป้าหมาย
การทดสอบแบบหยาบ : ไว้ใช้ทดสอบไอเดีย แนวคิด ความเป็นไปได้ของไอเดีย เช่นการใช้ Paper Prototype
การทดสอบแบบละเอียด : ไว้เรียนรู้ภาพย่อยๆที่มีอยู่ เช่น รายละเอียดในการออกแบบ Font, สี, ปุ่ม หรือเมื่อผู้ใช้ใช้แล้ว จะมีพฤติกรรมอย่างไร เป้าหมายเพื่ออะไร ดูว่าผู้ใช้เข้าใจการทำงานของ App, ปุ่ม, ข้อความหรือไม่
เครื่องมือที่ต้องใช้ในการ Test
สิ่งที่ต้องเตรียม
1. สถานที่ : ถ้า Test แบบหยาบ จะใช้สถานที่แบบไหน ตรงไหนก็ได้ แต่ถ้า Test แบบละเอียด จำเป็นต้องใช้สถานที่มิดชิด และส่วนตัว เพื่อให้มีสมาธิมากขึ้น
2. ทีมงาน : ประกอบไปด้วย
- Interview : ทำหน้าที่ทดสอบ และสัมภาษณ์
- Observer : ทำหน้าที่สังเกตการณ์ คอยมองรายละเอียด และอารมณ์
- Simulator : ทำหน้าที่จำลองการทดสอบ เช่นทำเสียง Effect
แต่ถ้าไม่มีทีมงาน ให้สนใจแค่ข้อ 2 และ 3 ข้อ 1 ไม่จำเป็นเพราะเราอยากดูแค่พฤติกรรมของผู้ใช้
3. สิ่งที่ใช้ในการบันทึกการทดสอบ : ประกอบไปด้วย
- กล้อง : โฟกัสที่หน้าจอ App และใบหน้าของผู้ใช้งาน
- การจดบันทึก : เก็บรายละเอียดที่กล้องทำไม่ได้
ขั้นตอนวิธีการ Test
ขั้นตอนที่ 1 : แนะนำตัว และบอกเป้าหมายของการทดสอบ ว่าทำไปเพื่ออะไร
ขั้นตอนที่ 2 : สร้างบรรยากาศ เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกไม่กดดัน รู้สึกสบายๆ และบอกผู้ใช้ว่าไม่มีผลต่อเขา เป็นการทดลองผลิตภัณฑ์ หรือบริการ
ขั้นตอนที่ 3 : ให้ผู้ใช้ ได้ลองใช้งานผลิตภัณฑ์ หรือบริการ จากนั้นลอบสังเกตพฤติกรรม และสีหน้า
ขั้นตอนที่ 4 : ตั้งโจทย์ที่ผู้ผลิตอยากรู้ และให้ผู้ใช้ลองตอบ เช่น เข้าใจหรือไม่ หรืออาจจะลองกำหมดโจทย์ให้ผู้ใช้ทำ "ถ้าหากต้องการโพสรูป ต้องทำอย่างไร?" เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 5 : สอบถามความรู้สึก, ข้อคิดเห็น หรือ Feedback ของผู้ใช้
คำถามสำคัญคือ คุณคิดว่า App นี้ เป็น App สำหรับอะไร?
จงทำซ้ำ
ทำซ้ำลูปไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด และเข้าใจผู้ใช้มากขึ้น!!
Top comments (0)