DEV Community

Teerasak Vichadee
Teerasak Vichadee

Posted on

บันทึกสิ่งที่ได้จากคลาส Facilitate Training 

เทรนวันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม 2562 โดยพี่อูแห่ง Odd-e ~ เป็นวันที่ตัดสินใจได้ยากมาก แต่ก็มาเรียน

​สิ่งที่คาดหวัง

เราได้ยินคำว่า facilitator ครั้งแรกจากพี่หนุ่มแห่งสยามชำนาญกิจด้วยประโยคประมาณว่า “Scrum master ต้องเป็น facilitator” ดูเท่ห์ดี แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจเท่าไหร่ จนได้มาเจอใน Facebook feed ของพี่อูว่าเค้าจะเปิดคลาส Facilitate Training ก็เลยตัดสินใจลงเรียน เพื่อมาเก็บความหมายของคำว่า Facilitator 

บทสรุปเนื้อหา

The 6 Thumps

เป็นการเอาความรู้เกี่ยวกับสมองมาประยุกต์ใช้ในการทำ facilitate

1. Movement thumps Sitting ~ 
เคลื่อนไหวดีกว่าอยู่เฉยๆ


วิชาการ: การอยู่นิ่งๆไม่ขยับ จะทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงสมองได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่

ประยุกต์: ในชั้นเรียนควรจัดให้พักเบรก เพื่อให้สมองไปพักผ่อน หรือเราอาจจะจัดเนื้อหาเอาสมองมาแทรก เพื่อให้มีช่วงเวลาที่คนเรียนได้พักบ้าง แน่นอนว่ามันเสียเวลา อาจจะต้องใช้เวลานานกว่าปกติ แต่เราจะสามารถส่งมอบความรู้ได้มากขึ้น

2. Talking thumps Listening ~ พูดคุยดีกว่าฟัง


วิชาการ: โดยปกติคนจะรับข้อมูลได้ไม่ถึง 100% เพราะในช่วงเวลาหนึ่ง สมองมันไม่เคยทำงานแค่เรื่องเดียว การพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจะทำให้ช่วยเรื่องการจดจำ และช่วยเพิ่มความเข้าใจในเนื้อหามากขึ้น

ประยุกต์: แทรกกิจกรรม เพื่อให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเข้าใจในเนื้อหาของบทเรียน

3. Images thumps Words ~ รูปภาพดีกว่าข้อความ

วิชาการ: โดยปกติ สมองเราเก็บข้อมูลเป็นรูปภาพนะ ... แค่นี้พอไหม

ประยุกต์: อะไรที่ถูกสรุปมาเป็นรูปภาพ หรืออะไรที่เป็นโครงสร้าง เช่น mind map จะทำให้เข้าใจได้ง่ายกว่าการเอาข้อความมาใส่

4. Writing thumps Reading ~ 
เขียนดีกว่าอ่าน

วิชาการ: สมองจะโฟกัสกับการเขียนมากกว่าการอ่าน

ประยุกต์: แทรกกิจกรรมที่ทำให้เกิดการเขียนหรือบันทึก หรือควรสังเกตุว่ามีการจดไหม ถ้ามีก็ควรเว้นระยะให้เกิดการจด

5. Shorter thumps Longer 
~ สั้นๆดีกว่านานๆ

วิชาการ: 
สมองทำงานได้ดีในช่วงเวลาสั้นๆ ยิ่งใช้นานยิ่งเปลืองพลังงานและทำให้เหนื่อย


ประยุกต์: เราควรจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นชุดสั้นๆ เพื่อทำให้คนเรียนย่อยข้อมูลได้ง่าย และไม่เหนื่อยกับการเรียนจนเกินไป

6. Difference thumps Same
 ~ แตกต่างดีกว่าเหมือนกัน


วิชาการ: สมองจะไม่สนใจสิ่งที่คล้ายๆกัน และสรุปไปเองว่ามันคืออันเดียวกัน เพราะมันต้องการจะประหยัดพลังงาน

ประยุกต์: ทำเนื้อหาให้คนเรียนสามารถแยกได้ออกว่านี่คือส่วนที่เราเน้น ต้องการให้โฟกัส

The 4Cs Map

เป็นโครงสร้างที่ใช้ในการสร้างและจัดลำดับเนื้อหา

1. Connect ~ การเชื่อมโยงผู้เรียนเข้าสู่เนื้อหา

การสร้างชั้นเรียนเหมือนเราทำ content ใน Facebook page เราต้องสร้างอะไรสักอย่าง เพื่อดึงคนเรียนเข้าสู่เนื้อหาและชั้นเรียน เชื่อมโยงให้เค้าอยู่ในชั้นเรียน

2. Concept ~ สิ่งที่ต้องการจะส่งมอบ

โดยปกติเมื่อเราสร้างชั้นเรียนขึ้นมา เราจะรู้อยู่แล้วว่าเราต้องการจะส่งมอบความรู้อะไรให้คนเรียน ปัญหาคือเราไม่รู้หรอกว่าคนเรียนต้องการอะไรจากชั้นเรียนนี้ เราต้องหาหนทางที่จะเข้าใจคนเรียน และส่งมอบในสิ่งที่เค้าต้องการ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องยัดทุกอย่างที่เรามีให้เค้า ให้แค่ที่เค้าจำเป็นจะต้องรู้

3. Concrete Practice ~ แบบฝึกหัด

การเรียนรู้ที่ดีต้องมาจากการได้ทดลองทำด้วย ดังนั้นเราควรจะต้องสร้างกิจกรรมให้เกิดการทำลองทำอะไรบางอย่างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ

4. Conclusion ~ บทสรุป

ทุกๆการเรียนรู้ น่าจะต้องมีบทสรุป อย่างน้อยเพื่อให้คนเรียนรู้ว่าได้รู้อะไรไปบ้าง ซึ่งจะดีที่สุดถ้าเราสร้างให้เค้าได้รับรู้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ว่าเราไปสรุปให้เค้า

ซึ่งทั้ง 4 ข้อนี้เป็นเพียงแค่โครงสร้าง เราสามารถเอาไปประยุกต์กับ The 6 Thumps และไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับจาก 1 - 4 สามารถสลับสับเปลี่ยนได้ เอาที่สบายใจและเห็นว่าเหมาะสม

เทคนิคที่จะทำให้คนเรียนจำได้ดีขึ้น

1. Primacy ~ สิ่งแรกที่ได้เจอ

เนื่องจากคนจะจำสิ่งแรกๆได้ง่ายกว่า เราสามารถประยุกต์โดยแบ่งเนื้อหาหลายๆส่วน และแทรกด้วยช่วงพักสมอง เราอาจจะเอาเนื้อหาสำคัญมาไว้ที่ช่วงแรกหลังจากที่พักสมอง เพื่อให้จดจำได้

2. Recency ~ สิ่งสุดท้ายที่ได้เจอ

สิ่งสุดท้ายก็เป็นอะไรที่คนจำง่ายเช่นกัน การแบ่งเนื้อหาหลายๆส่วน ก็อาจจะบอกชัดเจนว่า slide นี้เป็นอันสุดท้ายของช่วงนี้ อาจจะมีสรุป หรือกิจกรรมให้ทำเพื่อให้เข้าใจเนื้อหาของช่วงที่ผ่านมา

3. Linked ~ สิ่งที่สามารถเชื่อมโยงกับคนเรียนได้

เช่น ทำให้เกิดประสบการณ์ร่วม เราเจอปัญหาเดียวกัน

4. Written ~ เขียน (และวาด)

เพราะการเขียนทำให้สมองได้ทำงานเดิมๆซ้ำกัน (คิด+เขียน+อ่าน)

5. Jolt ~ เหตุการณ์อันน่าจดจำ

การสร้างเหตุการณ์ที่น่าจดจำ จะทำให้จดจำช่วงเวลานั้นๆได้ดีขึ้น

6. 6X6W ~ การทำซ้ำๆเดิมๆหลายๆครั้ง

ควรสร้างกิจกรรมเพื่อให้เกิดการคิดเกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียนซ้ำๆ โดยพี่อูลองให้คิดจาก 1) ให้ทำอะไร 2) กับใคร 3) ด้วยเครื่องมืออะไร เช่น ให้ เขียนสิ่งที่ตัวเองเข้าใจลง post it, แชร์กับเพื่อนข้างๆว่าเข้าใจอะไร

พี่อูสาธิตโดยให้เรา

  • เขียนกิจกรรมที่เราคิดลง post it (ทำอะไร:เขียนกิจกรรมที่เราคิดได้ ทำกับใคร:ตัวเองไง ด้วยเครื่องมือ:post it)

  • เอาที่เขียนไปแชร์ให้เพื่อนในกลุ่ม (ทำอะไร:แชร์ที่เขียนเมื่อกี้ ทำกับใคร:เพื่อนทุกคนในกลุ่ม ด้วยเครื่องมือ:post it ที่เขียนเมื่อกี้)
  • ให้ในกลุ่มเลือกอันที่ชอบแล้วเอามาสาธิตหน้าห้อง (ทำอะไร:แสดงตัวอย่าง กับใคร:ทั้งห้องเลย เครื่องมือ:บานเลย)

จริงๆแล้วทุกๆกิจกรรมที่จัดในชั้นเรียน มันคือ 6X6W หมดเลย

อะไรบ้างในทฤษฏีด้านบนที่ถูกเอามาใช้ในชั้นเรียนนี้

  • เขียนชื่อ ~ connect
  • ทำความรู้จักกับคนในกลุ่ม ~ connect
  • ทำความรู้จักกับคนกลุ่มอื่น ~ connect
  • เขียนสิ่งที่ต้องการจากชั้นเรียน ~ connect
  • ถามว่าใครที่กำลังจะเปิดคลาสสอน หรือทำ facilitate อยู่ ~ connect + Linked
  • ใช้ slide เป็น หัวข้อและภาพ มีตัวอักษรน้อยมาก ~ 6T(images thumps words)
  • ให้วาดรูปทุกหัวข้อเลย ~ 6T(writing thumps reading, image thumps words) + Written + Jolt
  • มีให้คุยกันตลอด เช่น ให้แชร์ให้เพื่อนฟังว่าเราจะทำอะไร 6T(talking thumps listening)
  • มีโยนมุขกันตลอด เพื่อพักเบรคสมอง 6T(shorter thumps longer)
  • เดินวนดูไอเดียกิจกรรม 6T(movement thumps listening)
  • เขียนและแชร์และเอามาแสดงหน้าห้อง (ขี้เกียจ mapping แล้วว่าคืออะไร)

สิ่งที่ได้

  • ได้รู้ผ่านการอธิบายและวิธีการต่างๆจนเข้าใจ ว่า facilitator คืออะไร
  • เราก็เคยสร้างชั้นเรียนมาแล้ว พอจะรู้สิ่งที่ควรหรือไม่ควรทำมาบ้าง แต่ไม่เข้าใจหรอกว่าทำไม จนถึงวันนี้ทำให้เข้าใจมากขึ้นว่ามันจำเป็นแค่ไหน
  • ได้โครงสร้างในการจัด slide
  • เราว่า เราจะสนุกกว่าเดิมในการสอนคนอื่น
  • วาดรูป
  • ได้ฟังพี่พล(นั่งข้างๆกัน) สอนวาดรูปโดยอ้างอิงจาก anatomy ของคน (ทำให้อยากได้ iPad กันเลยทีเดียว)

สิ่งที่ไม่เวิร์ค

  • เรามาเรียนตอนที่ไม่ค่อยพร้อมเรื่องเวลา แอบมีกังวลเรื่องงานที่ค้าง และรีบกลับบ้านทันทีที่จบ
  • ไม่ได้อ่าน what's good, improvement, และ action ที่แต่ละคนเขียนลง post it เป็น retro
  • บทความนี้ไม่ได้เขียนตาม The 6 Thumps, The 4Cs Map เลย :D

Top comments (0)