DEV Community

Chakrit Wichian
Chakrit Wichian

Posted on

อยากได้เว็บไซต์ต้องทำไง

เขียนทิ้งไว้เป็น How-To แบบไวๆ เพราะรู้สึกชอบมีคนมาถาม และคำตอบที่เป็น Default ส่วนมากแม่งโคตรไม่เมกเซ้นส์ หรือว่าเป็นแบบคนจ้างสบาย ที่คนได้เว็บไปปวดหัว

อย่างแรกที่สุดก่อนจะไปถึงว่าจ้างใคร เท่าไหร่ ใช้โปรแกรมไหน ตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า อยากให้เว็บไซต์ทำอะไรให้เรา ตัวอย่างเช่น:

  • อยากให้ร้านดู Professional มากขึ้น
  • อยากได้ Email แบบ @ชื่อร้าน.com
  • อยากได้ช่องทางการขาย Online
  • อยากมีที่ลงข้อมูลให้ลูกค้าอ่าน หรือติดต่อกลับ หรือ Google เจอ
  • อยากได้ระบบช่วยสนับสนุนการทำงานในร้าน

ที่ต้องถามเพราะว่า Solution ของแต่ละข้อนั้นมันไม่เหมือนกันเลย แต่ถ้าไม่ตอบคำถามนี้ก่อนแล้วตรงดิ่งไปหา Freelance สิ่งที่เขาจะทำก็คือเขาก็จะให้ Solution ที่เขาถนัดมาแบบที่เขาเคยทำ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ดีสุดสำหรับร้านคุณแน่นอน หรือไม่ใช่สิ่งที่ถูกที่สุดด้วย แล้วเอาจริงๆ มันก็ไม่ใช่หน้าที่เขาที่จะต้องมาแนะนำว่าอะไรดีที่สุด เพราะส่วนมาก สายรับจ้างแบบนี้ เขาก็แค่รับ Requirement คุณมา ทำให้จบ แล้วจบกัน

การหา Freelance มาทำเว็บให้ บอกเลยว่าเป็นคำตอบที่แย่ที่สุดแทบจะทุกครั้ง เหตุผลมีหลายข้อ:

Software ทุกตัวต้องการ Update ตลอดเวลา

Software ทุกตัวมีช่องโหว่ทางด้านความปลอดภัยเสมอ และโดยปกติแล้วคนทำ Software เขาจะมีการอุดช่องโหว่พวกนี้เรื่อยๆ เป็นระยะ และเขาก็จะปล่อย Update มาเรื่อยๆ ทุกเดือน หรือบางตัวอาจจะเป็นทุกอาทิตย์เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณใช้ Software ที่คนอื่นเขาให้กันดาดดื่นเช่น Wordpress นี่ตัวดีเลย เพราะใช้กันเยอะมากทั่วโลก

ลองนึกดูว่าถ้าคุณเป็น Hacker แล้วคุณจะมานั่งเจาะเว็บไซต์ทีละเว็บไหม ถ้าคุณมีความรู้ช่องโหว่ของ Wordpress? ไม่เลย คุณก็ใช้วิธียิ่งกวาดไปเลยไง ถ้าคุณไปจ้าง Freelance ทำเว็บให้ แล้วเขาทำ Wordpress มาให้คุณต้องดูให้ดีๆ ว่าเขาตกลง Update ให้คุณไปตลอดการใช้งานไหม ถ้าคำตอบคือไม่ คุณเตรียมโดน Hack ได้เลย

แล้วอย่าบอกว่าร้านคุณ "ไม่มีข้อมูลสำคัญให้ Hacker มาเจาะ" เพราะแค่เขายึด Domain ของคุณได้เขาก็เอาไปทำอะไรได้อีกร้อยแปดพันเก้าเลยครับ บางทีโดยที่คุณไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าคุณเป็นร้านขายเสื้อผ้า แล้ววันนึงลูกค้าคุณได้รับ E-Mail ขายยาปลุกเซ็กส์ที่จั่วหัวเป็นชื่อร้านคุณ คุณคิดว่าเขาจะกลับมาซื้อร้านของคุณอีกไหม? รู้ตัวอีกทีธุรกิจ Online ก็พังแล้ว โดน Google แบนอีก ทั้งๆ ที่หน้าเว็บเปิดเข้าไปดูก็ไม่ได้เป็นอะไรเลย ทุกอย่างปกติเหมือนเดิม (เขาไม่อยากให้เรารู้ตัวไง เขาแค่อยากขโมย E-Mail มายิง Spam)

Software ชิ้นแรกไม่ใช่ Software ชิ้นสุดท้าย

ถ้าคุณเคยได้ทำงานกับคน IT มาบ้าง จะต้องได้ยินคำว่า Agile ไม่มากก็น้อย ตอนนี้มันมีความหมายร้อยแปดพันเก้า แล้วแต่ว่าไปเรียนมาจากสำนักไหน แต่ข้อสำคัญที่คุณควรจะรู้ไว้เลยก็คือว่า สิ่งที่คุณคิดว่าคุณต้องการสำหรับร้านคุณในวันนี้ มันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นจริงๆ สำหรับคุณไปตลอดแน่นอน ปีหน้า เดือนหน้า หรือแม้แต่แค่อาทิิตย์หน้า หรือพรุ่งนี้คุณอาจจะตื่นมาแล้วคิดได้ว่าจริงๆ คุณอยากได้ Function การทำงานอื่น ไม่ใช่สิ่งที่ทำไปแล้วด้วยซ้ำ

ข้อสำคัญก็คือ Requirement ทางธุรกิจมันไม่เคยนิ่งอยู่แล้วครับ ถ้าคุณจ้าง Freelance มาทำให้แล้วคุณส่ง Requirement ไปหนึ่งชุด ถ้าคุณไม่ทบทวนให้ดี คิดให้แน่ Freelance เขาไม่มานั่งแคร์นะครับ ว่าสิ่งที่คุณระบุไปมันจะให้ได้จริงๆ เขาก็แค่ทำให้ดีที่สุดตามที่เขาเข้าใจ แล้วจ่ายเงินเมื่อไหร่ก็จบงาน ถ้าเกิดคุณนึกอยากจะเปลี่ยนอะไรขึ้นมาอีก ง่ายๆ ก็คือเสียเงินเพิ่มไปเรื่อยๆ ครับ

ทุกจุดนึงธุรกิจของคุณจะแข็งเป็ก ปรับเปลี่ยนอะไรยากมาก เพราะว่าจะเปลี่ยนทีนึงต้องเสียเงิน เสียเวลา เสียอารมณ์ นั่งคุย นั่งประชุมกันหลายรอบ พวกนี้เป็นต้นทุนทั้งนั้น

ถามว่า Freelance ดีๆ ที่คิดทุกอย่างให้ ดูแลให้ตลอดทางมีไหม มีครับ แต่คุณมีกำลังจ้างเขารึเปล่า คุณพร้อมจะจ่ายเงินหลักแสนเป็นรายเดือนไหม?

คุณไม่ใช่คนแรกที่อยากได้เว็บ

คิดว่า ณ​ จุดนี้ทุกคนที่สามารถเปิดมาอ่านบล็อกนี้ได้ น่าจะใช้ Facebook, Twitter เป็นกันหมดแล้ว ลองคิดดูว่าถ้าธุรกิจคุณอยากได้หน้าร้าน หรืออยากได้อีเมล์ ธุรกิจอื่นๆ มันยากมากที่จะมองว่าความต้องการน้ีของธุรกิจของคุณมันเป็นเรื่อง Unique ที่ไม่มีใครเคยทำมาก่อน

สิ่งที่จะบอกก็คือเดี๋ยวนี้มันมี Platform มากมายหลายอย่างให้เลือกใช้อยู่แล้ว แบบที่คลิกๆ แปปเดียวก็ใช้ได้เพราะฉะนั้นพวกนี้คือสิ่งที่คุณควรจะไปตามหาก่อนอย่างแรก ก่อนที่จะคิดว่าต้องจ้างใครมาทำเว็บให้ แถมการใช้งาน Platform พวกนี้มันมีข้อดีที่เน้นหนักมากๆ อยู่สามอย่างคือ

มันถูกกว่าจ้าง Freelance เพราะว่าพวกนี้เขาทำ Software ทีเดียว บริการลูกค้าได้หลายคน ลองคิดดูว่าถ้าราคาจ้าง Freelance ของคุณคือ 15,000 บาทบวกกับความปวดหัวทั้งหลาย เงินก้อนนี้ถ้าเอาไปซื้อ Online Service หนึ่งตัว สมมุติว่าราคา $9.99 ต่อเดือน ก็ตีซะเดือนละ 400 คุณใช้งาน 37.5 เดือนหรือเทียบเป็นปีก็ 3 ปีเศษๆ เลยนะ!

มันมี Function เพียบพร้อมมาให้แล้ว ถ้าคุณไปจ้าง Freelance ทำ คุณก็ต้องไปนั่งไล่รายละเอียดของธุรกิจคุณให้ฟังทีละอย่าง ทำความเข้าใจให้ถูกต้องกัน กว่าจะรู้เรื่อง เริ่มทำกันได้ ก็เป็นเดือนแล้ว แถมนี่คือ Software ที่ทำขึ้นใหม่ มันมีข้อดีข้อเสียยังไง ก็ไม่มีใครรู้ ถ้าคุณไปใช้ Platform ที่คนอื่นเขาทำมาแล้ว คุณไม่ต้องมาเสียเวลาทำอะไรตรงนี้เลย เพราะเขาคิดมาให้หมดแล้ว มีลูกค้าคนอื่นของเขาที่เขาไปเรียนรู้มาแล้วว่าต้องมีอะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง เขาทำมาให้แล้ว คุณไม่ต้องไปคิดเองเลย แถมวันนึงถ้าเกิดคุณมีความต้องการใช้อะไรใหม่ๆ มันอาจจะมีคนทำไว้ให้แล้วตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ คุณไม่ต้องไปแก้อะไรเลย แค่เข้าเว็บไปเปิดใช้ก็ใช้ได้แล้ว

ผู้ให้บริการเขา Update ทุกอย่างให้คุณโดยอัตโนมัติ คือเมื่อคุณใช้ Platform ร่วมกับคนอื่น อย่างเช่น Facebook อย่างนี้ เวลามีปัญหา มี Bug หรือมีช่องโหว่ด้านความปลอดภัย เขามี Incentive ในการเข้าไปแก้ให้คุณอยู่แล้ว เพราะมันกระทบลูกค้าเขาทุกคนพร้อมกัน คุณไม่ต้องรอให้ปัญหามันเกิด ไม่ต้องรอไปแจ้งให้ใครมาซ่อมให้

เพราะฉะนั้นก่อนจะไปหาคนทำเว็บให้ ลองหา Service ออนไลน์ดูก่อนมันดีกว่ามากๆ

Common Services

อันนี้เขียนทิ้งไว้เป็น List บริการออนไลน์ส่วนน้อยที่เราชอบเป็นการส่วนตัว เผื่อใครอยากกดเข้าไปใช้ ไปสมัครลองทำกันเอง

จดโดเมน

ถ้าอยากมี Web Presence หรือมี .com .net .co.th เป็นของตัวเอง

ถ้าต้องจัดการ DNS (เช่นติดตั้ง E-Mail บนโดเมนของตัวเอง หรือมี Subdomain หลายๆ อย่าง หรือแค่อยากได้ WAF)

อยากได้อีเมล์ @ชื่อร้าน

ต้องจดโดเมนชื่อร้านก่อนนะ แล้วค่อยมา Setup ตรงนี้

  • https://gsuite.google.com/ - ตัวมาตรฐาน หน้าตาเหมือน GMail แต่เป็น Domain เราเอง
  • https://www.zoho.com/ - อันนี้เป็นมวยรองแต่ใช้งานได้เหมือนกัน

ทำการตลาดผ่าน E-Mail (ส่งข่าว แจ้งโปรฯ​ ฯลฯ)

แชร์ E-Mail ตอบลูกค้าหลายๆ คนพร้อมกัน

ถ้ามี Volume จำนวนปริมาณ E-Mail เยอะมาก แล้วพนักงานตอบกันไม่ทันหรือมีปัญหาแย่งกันตอบ ใครตอบอันไหน ลองใช้พวกนี้ดู

อยากมีหน้าเว็บ หรือร้าน Online

  • https://wordpress.com/ - ถ้าต้องใช้ Wordpress จริงๆ มาใช้ของต้นน้ำจากเจ้าของโดยตรงที่ตรงนี้ ให้เขา Host ให้ อย่าซ่า Host เอง!
  • https://www.shopify.com/ - เปิดร้านขายของ แพงหน่อยแต่ฟังก์ชั่นครบ ถ้าอยากได้ถูกไปใช้ WooCommerce บน Wordpress
  • https://www.wix.com/
  • https://www.squarespace.com/

แชร์เอกสาร หรือทำ Workflow

  • https://products.office.com/th-th/business/small-business-solutions - ถ้าเน้นใช้ Office หนักๆ ต้องการแชร์ของกันทุกอาทิตย์ ไปลองกด Office 365 ดู ชีวิตจะสะดวกขึ้นเยอะ
  • https://docs.google.com/ - ตัวนี้แถมมากับ G-Suite เวลาติดอีเมล์ ถ้าไม่ได้ติดว่าต้องเป็น Microsoft Office แนะนำให้ใช้ตัวนี้ ไม่ต้องเสียตังค์เพิ่ม ออนไลน์ แชร์ง่าย โดยเฉพาะถ้าใช้ Android อยู่แล้วด้วย
  • https://www.dropbox.com/ - สำหรับแชร์ไฟล์ทั่วไป หรือไฟล์ขนาดใหญ่ ที่ส่งผ่านเมล์ยาก
  • https://airtable.com/ - สำหรับสร้าง Workflow ตัวนี้ใช้ยากนิดนึง เหมือน Access สมัยก่อน แต่สมัครทีเดียวดัดแปลงได้ร้อยแปดพันเก้า

มีอีกแต่คิดว่าเท่านี้คง Cover เกิน 80% ของที่คนส่วนใหญ่ต้องการละ ถ้ามีอะไร E-Mail มาถามได้ service@chakrit.net

Top comments (0)